ตอนที่ 23 ลงมือเป็นนัดขุดทองกับเขาซะที

หลังจากที่ได้เขียนเรื่องทองไป 2 ตอนในตอนที่ 21 และ 22 และติดตามราคาทองมาประมาณครึ่งเดือนก็เห็นการ Swing ของราคาทองในแต่ละวันและ Trend ของราคาทองที่ยังอยู่ในขาขึ้นอยู่ พอมาดูรายละเอียดปลีกย่อยลงไปก็พบว่าความคาดหวังและการยอมรับได้ในความเสี่ยงของการลงทุนในทองของแต่ละก็คงจะแตกต่างกัน แต่ถ้าด้วยกระแสที่น่าเย้ายวนของทองเช่นนี้งั้นเราจะลงทุนทองในรูปแบบไหนที่จะเหมาะสมกับตัวเองดีล่ะ โดยทั่วไปรูปบบการลงทุนในทองเท่าที่มีการพูดถึงและในตลาดมีอยู่ด้วยกัน 6 แบบดังนี้นะครับ

ทองรูปพรรณ

พอมีเงินหน่อยสมัยอากง อาม่า ก็จะให้ไปซื้อสร้อย แหวน กำไร หรือต่างหูทองมาเก็บไว้ ถ้าเกิดปัญหาฉุกเฉินขึ้นมาก็ยังเอาทองที่มีไปแลกเป็นของมากินมาใช้ได้ อันนี้ฟังมาจากคุณแม่ท่านเล่าให้ฟังว่า สมัยอากง อาม่านั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งธนบัตรที่ใช้ก็แปรปรวนไม่แน่นอน ร้านค้าบางเจ้าก็รับบางเจ้าก็ไม่เอาบางทีต้องไปขอแบ่งข้าวสารมาเพราะทุกคนก็ห่วงและเก็บไว้กินไว้ใช้เอง พอมีทองไปแลกก็พอจะได้มาบ้างเลยทำให้เป็นเหตุที่อากง อาม่าผมคอยบอกลูกๆหลานๆ ว่าพอมีเงินก็ให้ไปซื้อทองเก็บไว้บ้าง แต่พอมามองในแง่การลงทุนแล้วการซื้อ-ขาย ทองรูปพรรณมีต้นทุนส่วนต่างที่มากกว่าทองแท่งอยู่พอตัว อย่างราคาทอง

รายการ

ราคาซื้อ(คืน)

ราคาขาย(ออก)

ส่วนต่าง

%ส่วนต่าง

ทองรูปพรรณ

24,938.20

25,800.00

861.80

3.34%

ทองคำแท่ง

25,300.00

25,400.00

100.00

0.39%

ราคา ณ วันที่ 18 ส.ค. 2554

จากตารางจะเห็นได้ว่าต้นทุนของการซื้อทองรูปพรรณมาแล้วขายคืน(ไม่หักค่าสึกหร่อที่เกิดจากการใส่) คุณจะขาดทุนไปก่อนแล้วประมาณ 3.34% ขณะที่ทองแท่งขาดทุนไปแค่ 0.39% เท่านั้นเอง

 

ทองคำแท่ง

ตอนนี้การลงทุนในทองคำแท่งถือว่าเป็นการลงทุนในทองคำได้รับความนิยมมากขึ้นและมีต้นทุนการลงทุนต่ำกว่าทองรูปพรรณ ทองคำแท่งที่มีซื้อ-ขาย ในตลาดมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบคือ ความบริสุทธิ์ 96.5% และ 99.99% ซึ่งประเทศไทยนิยมการลงทุนในทองคำ 96.5% (ราคาที่เราเห็นประกาศกันทุกวันในข่าวหรือหน้าร้านทอง) ขณะที่ต่างประเทศจะนิยมลงทุนทองคำ 99.99% ทองคำแท่ง 96.5% ขนาดเล็กที่สุดที่มีซื้อ-ขายกันคือ 5 บาท และขยับขึ้นเป็น 10 บาท 20 บาท และ 50 บาท แต่ถ้าเป็นทองคำแท่ง 99.99% ปริมาณซื้อ-ขายกันอยู่ที่ 100 กรัม 10 บาท 20 บาท และ 1 กิโลกรัม แต่โดยมากมักจะลงทุนกันที่ 1 กิโลกรัม อันนี้เราจะเห็นในจากภาพข่าวที่มีทองหลอมออกมาเป็นแท่งใหญ่ๆ

เหรียญทองคำ

ถ้าพูดถึง “เหรียญทองคำ”นักลงทุนทองคำในประเทศไทยอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูมากนัก แต่ถ้าเป็นนักลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะนักสะสมทองคำจะนิยมการลงทุนในเหรียญทองคำ โดยเหรียญทองคำที่เป็นสุดยอดปรารถนาของนักสะสมเหรียญทองคำทั่วโลก เช่น South African Krugerrand,Canadian Maple Leaf, Australian Gold Nugget,American Gold Eagle หรือ U.S. Eagles นั่นเพราะนอกจากจะซื้อขายเหรียญทองคำได้ตามน้ำหนักของเหรียญแล้ว นักสะสมยังจะได้กำไรจากความนิยมในตัวเหรียญอีกด้วย ทำให้เมื่อบวกกันแล้วเหรียญทองคำมีโอกาสที่จะทำกำไรได้มากกว่าการลงทุนในทองคำแท่งเสียอีก

ตัวอย่าง เหรียญทองคำของสหรัฐอเมริกาที่นักสะสมเรียกว่า Double Eagle ออกมาเมื่อปี ค.ศ. 1907 หรือ พ.ศ. 2450 ราคา 20 เหรียญสหรัฐ ซึ่งในขณะนั้นทองคำซื้อขายกันอยู่แถวๆ 20 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์เช่นกัน แต่วันนี้เหรียญทองคำ Double Eagle ซื้อขายกันอยู่ประมาณ 1,250 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ราคาทองคำแท่งยังลุ้นกันอยู่ว่าจะวิ่งไปถึง 1,000 เหรียญสหรัฐหรือไม่ ไม่ใช่เฉพาะเหรียญทองคำของต่างประเทศเท่านั้นที่จะเป็นการลงทุนทองคำที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนทองคำแท่ง เพราะเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกชนิดทองคำ หรือเหรียญทองคำของไทยก็ให้ผลตอบแทนที่น่าทึ่งไม่แพ้กัน ร.ต.อ.กุศิก มโนธรรมนายกสมาคมเหรียญกษาปณ์แห่งประเทศไทย และจักรฤกษ์ ธรรมโชโตประธานชมรมนักสะสมเหรียญ เคยบอกไว้ตรงกันว่า การลงทุนเหรียญทองคำจะไม่มีขาดทุน เพราะมีทั้งราคาทองคำ และราคาหน้าเหรียญเป็นประกัน “ลงทุนทองคำมีทั้งโอกาสกำไรและขาดทุน แต่ถ้าเป็นเหรียญทองคำต่อให้ราคาทองคำตกไปจากวันที่ซื้อ ก็ยังมีราคาหน้าเหรียญเป็นเครื่องค้ำประกัน แต่ถ้าราคาทองคำขึ้น ราคาเหรียญก็ขึ้นไปด้วย และมีโอกาสขึ้นได้มากกว่าราคาทองคำ” จักรฤกษ์ กล่าว เหรียญกษาปณ์ทองคำที่ระลึกมหามงคลพระชนมพรรษา 60 พรรษา หรือเหรียญ 60 พรรษา ที่ออกมาเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2530 น้ำหนักทองคำ 1 สลึงราคาหน้าเหรียญ 1,500 บาท พอมาถึงวันนี้ที่ราคาทองคำไปถึงบาทละมากกว่า 25,800 บาท หรือสลึงละ 6,450 บาท แต่ในวงการนักสะสมเหรียญซื้อขายเหรียญนี้กันอยู่ที่ 28,000 บาท (อ้างอิงจากwww.mpcoin2007.com)

หุ้นเหมืองทอง

ในบางช่วงบางเวลาหุ้นเหมืองทอง(ในต่างประเทศ) เช่น Barrick Gold Anglogold หรือ IAMGOLD น่าสนใจกว่าการลงทุนทองคำโดยตรงแถมยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนทองคำเสียอีก เพราะต้นทุนการผลิตต่ำลง แต่ขายทองคำได้ราคาดีขึ้น แต่ในประเทศไทยมี “หุ้นเหมืองทองคำ”เพียงตัวเดียวในตลาดหลักทรัพย์ คือ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์(THL) ซึ่งเป็นหุ้นในใจของนักลงทุนรายย่อยที่นิยมการซื้อขายทำกำไรระยะสั้น แต่นักลงทุนหลายคนกลับตั้งชื่อเล่นให้หุ้นตัวนี้ว่า “คาทุ่ง” บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ มีบริษัทลูกชื่อ ทุ่งคำ ที่ได้สัมปทานเหมืองทองใน จ.เลย แต่จากการประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2552 ปรากฏว่าขาดทุน 61 ล้านบาท หรือขาดทุนต่อหุ้น 0.08 บาท แถมผู้ตรวจสอบบัญชียังไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินนี้ เพราะมีขอบเขตจำกัดในการสอบทาน พอเข้าไปดูบทวิเคราะห์ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาในเว็บไซต์การเงินอันดับหนึ่ง settrade.com มีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ส เพียงแห่งเดียวที่ออกบทวิจัยหุ้นตัวนี้มา (เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2552) โดยแนะนำให้ “ขาย”โดยมีราคาเป้าหมายอยู่ที่ 0.84 บาท ขณะที่ราคาปิดในกระดานเมื่อวันที่28 พ.ค. อยู่ที่ 1.26 บาท พร้อมกับประมาณการกำไรปี 2552 ไว้ที่ 33 ล้านบาท และ 99 ล้านบาท ในปี 2553 โดยคิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.04 บาทในปีนี้ และ 0.13 บาทสำหรับปี 2553 ขณะที่มีราคาต่อกำไร (PE) สูงถึง31.5 เท่า

กองทุนทองคำ

กองทุนทองคำก็เหมือนกับกองทุนประเภทอื่นๆคือ รวบรวมเงินจากนักลงทุนรายเล็กรายน้อยแล้วนำไปซื้อทองคำมาเก็บไว้ แต่ไม่ได้คาดหวังจะซื้อขายทองคำแบบเก็งกำไร แต่จะทำให้มูลค่าหน่วยลงทุนเคลื่อนไหวให้ใกล้เคียงกับราคาทองคำในตลาดโลกเท่านั้น และเช่นเดียวกับกองทุนรวมอื่นๆ คือ ต้องจ่ายค่าจ้างในการบริหารจัดการกองทุน ซึ่งนี่อาจจะเป็นจุดอ่อนของกองทุนทองคำในประเทศไทย เพราะไม่มีกองทุนทองคำเป็นของตัวเอง จึงต้องจัดตั้งกองทุนขึ้นมาและนำเงินที่รวบรวมได้ไปลงทุนในกองทุนทองคำในต่างประเทศอีกต่อหนึ่ง ทำให้ต้องเสียค่าธรรมเนียม 2 ต่อ ในอัตราประมาณ 1.3% – 2% นอกจากนี้ แม้ว่าเราจะตัดสินใจซื้อกองทุนวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าราคาทองคำที่ซื้อได้เป็นเท่าไร เพราะต้องรออย่างน้อย 2 วัน หรือถ้าขายหน่วยลงทุนก็ยังไม่ได้รับเงินทันที ต้องรอเวลาเช่นเดียวกัน

แต่ข้อดีของกองทุนทองคำคือ ไม่ต้องเก็บทองไว้ให้นอนสะดุ้ง และมีเงินเพียงแค่หลักพันก็สามารถลงทุนได้แล้ว (สำหรับบางกองทุน) และถ้าอยากได้เงินปันผลซึ่งหาไม่ได้จากทองคำแท่ง บางกองทุนก็สามารถจัดให้ได้ ในตอนนี้มีกองทุนทองคำให้เลือกลงทุนอยู่ 5 กองทุน จาก 5 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ได้แก่ ทหารไทย โกลด์ ฟันด์(TMBGOLD) บลจ.ทหารไทย, เค โกลด์ (K-GOLD) บลจ.กสิกรไทย, เอ็มเอฟซี อินเตอร์เนชั่นแนล โกลด์ ฟันด์ (IGOLD) บลจ.เอ็มเอฟซี, อยุธยา โกลด์ (AYFGOLD) บลจ.อยุธยา และ ทิสโก้ โกลด์ ฟันด์ (GOLDFUND) บลจ.ทิสโก้

โดยทั้ง 5 กองทุนลงทุนในกองทุนแม่กองทุนเดียวกันคือ SPDR Gold Trust กองทุนอีทีเอฟที่ลงทุนในทองคำแท่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จัดตั้งและจัดการโดยสมาพันธ์ทองคำโลก (World Gold Council) จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 4 แห่ง คือ นิวยอร์กสิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น ซึ่งแต่ละตลาดจะมีเวลาการซื้อขายและสภาพคล่องแตกต่างกัน

แต่ไม่ใช่ว่าทั้ง 4 กองทุนจะเหมือนกันทั้งหมดเพราะแต่ละกองทุนจะมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกันไป อาทิ ตลาดที่เข้าไปซื้อขาย และนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

บลจ.ทหารไทย และอยุธยา ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้มูลค่าหน่วยลงทุนเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาทองคำในประเทศ แต่บลจ.กสิกรไทย บลจ.เอ็มเอฟซี และบลจ.ทิสโก้ เปิดทางให้ผู้จัดการกองทุนเลือกที่จะป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้

โกลด์ ฟิวเจอร์ส

ของเล่นใหม่ของนักลงทุน และแม้ว่าโกลด์ฟิวเจอร์สจะเป็นเรื่องใหม่ แต่นพ.กฤชรัตน์ บอกว่าในช่วงนี้มีปริมาณการซื้อขายในตลาดโกลด์ฟิวเจอร์สเพิ่มมากขึ้น และนักลงทุนที่นิยมทองคำแท่งก็เข้ามาในตลาดนี้มากขึ้นด้วย ฟิวเจอร์สทองคำ (Gold Futuers) หรือโกลด์ฟิวเจอร์ส เป็นสัญญาซื้อขายทองคำที่มีทองคำแท่งที่มีความบริสุทธิ์ 96.5% เป็นสินค้าอ้างอิง โกลด์ ฟิวเจอร์สก็เหมือนกับฟิวเจอร์สชนิดอื่นๆคือ นักลงทุนสามารถทำกำไรได้ทั้งในเวลาที่ทองคำเป็นขาขึ้นและขาลง แถมยังใช้เงินลงทุนต่ำกว่าการลงทุนทองคำโดยตรง เพราะการลงทุนไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินตามมูลค่าทองคำที่ลงทุน แต่จะใช้วิธีการวางเงินหลักประกัน หรือที่เรียกว่า Margin

แต่ข้อเสียของโกลด์ ฟิวเจอร์ส คือ เป็นการลงทุนระยะสั้น เพราะแต่ละสัญญาจะมีระยะเวลาครบกำหนด และหากต้องการลงทุนต่อไปอีกก็ต้องใช้วิธีการ Roll Over ทำให้มีต้นทุนในการลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ถ้าคิดจะเข้าไปลงทุนคงจะไม่สามารถเดินดุ่มๆ เข้าไปได้ ต้องศึกษาและทำความเข้าใจเสียก่อน เพราะการลงทุนทองคำในรูปแบบนี้มีความซับซ้อนมากกว่าแค่การซื้อทองคำแท่งมาเก็บแล้วรอเวลาขายทำกำไร

ที่นี้เราก็พอจะเข้าใจแล้วว่ามีรูปแบบในการลงทุนในทองแบบไหนบ้าง ส่วนใครชอบแบบไหนเตรียมตัวเงินเตรียมตัวไว้ให้ดีกันก่อนนะครับแล้วอาทิตย์หน้าผมจะลงรายละเอียดเรื่อง กองทุนทอง กันนะครับ ส่วนอันนี้เป็น Web ที่เอาไว้ดูราคาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน kitco

 

ที่มาของบทความบางส่วนคัดลอกมาจาก หนังสือพิมพ์ Post today