Outsource ความเสี่ยง ตอนที่ 2

จากคราวที่แล้วเราได้คุยกันเรื่อง Outsource ความเสี่ยงในภาพกว้างไปแล้วทีนี้เราลองลงลึกมาอีกหน่อยดีกว่าว่ามีคำถามที่มักจะถามกันบ่อยๆคืออะไรบ้าง เพราะเราจะได้รู้ก่อนที่จะไปหาบริษัทหรือตัวแทนที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เนื่องจากผมเชื่อว่าหลายคนจะกลัวถ้าเข้าไปคุยเลยเขาจะต้องชักชวน ล่อหลอกให้เราซื้อประกันกับเขาให้ได้แน่นอนโดยที่เราเองเวลาฟังแล้วก็อาจจะมึนๆ ตามไม่ค่อยทันเท่าไร…..จริงมั้ยครับ ^ ^

คำถามที่พบบ่อยที่เกี่ยวกับเรื่อง การพิจารณารับประกัน

A.      ประกันชีวิตมีกี่แบบ อะไรบ้าง ??

หลายคนอาจสงสัยว่า… “การประกันชีวิต” มีอยู่เยอะแยะมากมาย แล้วจะเลือกอย่างไรให้เหมาะกับตัวเราก่อนอื่น… เราต้องรู้จักก่อนว่าการประกันชีวิตในบ้านเราแบ่งออกเป็น “2 ชนิด 3 ประเภท 4 แบบ”

2 ชนิด… คือ ชนิดที่มีเงินปันผลและไม่มีเงินปันผล

3 ประเภท… ได้แก่

ประเภทสามัญ” เน้นเฉลี่ยความเสี่ยงในกลุ่มผู้ที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป ทุนประกันค่อนข้างสูง

ประเภทอุตสาหกรรม” ที่มีทุนประกันและเบี้ยประกันต่ำมาก เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง

ประเภทกลุ่ม” เป็นประกันชีวิตของบริษัท ซึ่งนายจ้างจะขอทำประกันให้กลุ่มลูกจ้างหรือพนักงาน ภายใต้กรมธรรม์หลักฉบับเดียวกัน ค่าเบี้ยประกันที่ แต่ละคนต้องชำระจะต่ำกว่าประเภทสามัญ และอุตสาหกรรม

4 แบบ… แบ่งเป็น

แบบชั่วระยะเวลา” (Term Insurance) มีทั้งระยะสั้น ระยะยาว จ่ายเงินคืนให้แก่ผู้รับประโยชน์ เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนด เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรือคุ้มครองหนี้สิน

แบบตลอดชีพ” (Whole Life Insurance) คุ้มครองตลอดชีพ โดยจะจ่ายเงินคืนให้ผู้รับประโยชน์ เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต หรือจ่ายเงินคืนให้ผู้เอาประกันเมื่อผู้เอาประกันมีอายุครบ 99 ปี เหมาะสำหรับ ผู้ที่เป็นเสาหลักของครอบครัว

แบบสะสมทรัพย์” (Endowment Insurance) ลูกผสมระหว่างการคุ้มครองชีวิตและการออมเงิน จ่ายเงินคืนให้ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต หรือจ่ายเงินคืนให้ผู้เอาประกันเมื่ออยู่จนครบสัญญาเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินระยะยาว

แบบเงินได้ประจำ” (Annuities Insurance) บริษัทประกันจะจ่ายเงินให้เป็นงวดๆ จนกว่า ผู้เอาประกันจะเสียชีวิต เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสะสมเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ

B.      ทุนประกันเท่าไหร่จึงจะพอดี ??

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องการทำประกันชีวิต แต่ยังติดที่ไม่รู้ว่าควรจะทำทุนประกันเท่าไหร่จึงจะพอเหมาะพอดี

วิธีที่ง่ายที่สุด คือ

  1. วิธีทวีคูณรายได้” (The Multiple of Earnings Method) โดยตัวเลขทวีคูณที่นิยมใช้จะอยู่ระหว่าง 3 – 5 เท่าของรายได้ต่อปี

ทุนประกัน = รายได้ต่อปี X ตัวเลขทวีคูณที่ต้องการ

ตัวอย่างเช่น

สมศักดิ์มีรายได้ 500,000 บาทต่อปี สมมติให้ตัวเลขทวีคูณเท่ากับ 5 ดังนั้น สมศักดิ์จึงควร ทำประกันด้วยทุนประกัน 2,500,000 บาท (500,000 x 5)

ตัวเลขทวีคูณตามวิธีนี้ สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสถานการณ์ของแต่ละครอบครัวได้ โดยประเมินจาก “ระยะเวลาในการปรับตัว” เพื่อให้คนที่อยู่ต่อไปสามารถดูแลตนเองและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ อย่างกรณีของ สมศักดิ์หากสมศักดิ์เสียชีวิตไป ภรรยาของเขาจะได้รับเงิน 2,500,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้เธอมีเวลาตั้งหลัก และยังมีเงินใช้จ่ายเหมือนสมศักดิ์ยังคงทำงานหาเงินอยู่อย่างน้อย 5 ปี

2. “วิธีวิเคราะห์ความจำเป็นทางการเงิน” (The Financial Needs Analysis Method) เพื่อประมาณทุนประกันที่เหมาะสมได้เช่นกัน แต่วิธีนี้อาจต้องใช้เวลาสักหน่อย เพราะต้อง พิจารณารายละเอียดรอบด้านทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อจะได้ทราบความต้องการทางการเงินที่แท้จริง เริ่มจาก…

ขั้นที่ 1 ประมาณความต้องการทางการเงินที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครอง

ต้องครอบคลุมค่าใช้จ่ายและภาระทางการเงินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งหมด ได้แก่ รายได้สำหรับครอบครัว ภาระหนี้สิน การศึกษาบุตร ค่ารักษาพยาบาล เงินฉุกเฉิน ความทุพพลภาพ การชดเชยรายได้ รวมทั้งความคุ้มครองทรัพย์สินส่วนบุคคล

ขั้นที่ 2 ประมาณการรายได้และทรัพยากรทางการเงินทั้งหมดที่มี

เช่น เงินออม เงินลงทุน ดอกเบี้ย ผลตอบแทนผลประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งสินทรัพย์ที่มีมูลค่าทั้งหมดโดยระยะเวลาในการประมาณการรายจ่ายและรายได้ต้องสอดคล้องกัน

ขั้นที่ 3 คำนวณทุนประกัน

หลังจากรวบรวมข้อมูลรายจ่ายและรายได้เรียบร้อยแล้ว ให้คำนวณทุนประกันที่เหมาะสมได้จากสูตร…

จำนวนเงินทุนประกัน = รายจ่ายจำเป็นทั้งหมด(ที่ได้จากขั้นที่ 1) – รายรับทั้งหมด(ที่ได้จากขั้นที่ 2)

หลักสำคัญที่ทำประกันแบบไม่ให้รู้สึกว่าเป็นภาระติดตัว คือ “ให้ทำแบบพอดี” ไม่ใช่ทำด้วยทุนประกันเยอะๆ แล้วต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันปีละมากๆ จนต้องล้มเลิกกลางคัน สัดส่วนของค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายต่อเดือน/ปี นั้นไม่ควรเกิน 10% ของรายได้ประจำต่อเดือน/ปี นะครับ

C.      จัดการประกันชีวิตอย่างไรในช่วง “เงินช็อต” ??

ในชีวิตคุณอาจมีบางช่วงที่เงินช็อตกะทันหัน หรือดวงตก ไม่มีงาน ไม่มีเงิน จากที่เคยใช้เงินมือเติบกลับต้องเขียมแบบสุดๆ อะไรตัดได้เป็นตัด พอเห็นบิลเรียกเก็บค่าประกันเข้าอีกหนึ่งรายการ… ลมแทบจับ

ตัดใจโยนกรมธรรม์ที่จ่ายเบี้ยเป็นเงินแสนทิ้งไปดีกว่าอดตาย หรือยอมกัดฟัน จ่ายอีกงวด พร้อมคิดในใจว่าคงไม่ตกงานไปทั้งชาติหรอกน่า!!!

ถ้าเข้าตาจนอย่างนี้… ไม่ต้องคิดมาก แค่คุณเดินเข้าไปหาตัวแทนประกันของคุณ ให้เขาจัดการ กู้เงิน” จากมูลค่าเงินสดในกรรมธรรม์มาจ่ายค่าเบี้ย ซึ่งมูลค่าเงินสด จะเกิดขึ้นเมื่อคุณส่งเบี้ย 2 ปีขึ้นไป ยิ่งคุณส่งเบี้ยมาแล้วหลายปีจะมีมูลค่าเงินมากขึ้น อาจจะพอให้คุณกู้จ่ายค่าเบี้ยเอาตัวรอดไปได้สักปี หรืออาจจะมีแค่ส่วนต่างเล็กน้อยที่คุณต้องโปะเพิ่มบางส่วน หลังจากนั้นเมื่อมีรายได้คุณค่อยไปจ่ายเงินกู้ค่าเบี้ยพร้อมดอกเบี้ยอีกประมาณ 8% เท่านี้กรมธรรม์ของคุณก็ไม่ขาดอายุ

D.      ประกันสุขภาพ… ซื้อที่ “ส่วนเกิน” ??

เมื่อซื้อประกันชีวิตหลักไว้เรียบร้อยแล้ว จะเป็นการดีหากคุณพ่วงประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ หรือฆาตกรรม เข้าไปด้วย เพราะไม่ว่าคุณจะแข็งแรงปานใด แต่ก็ไม่สามารถแน่ใจได้หรอกว่าสักวันหนึ่งคุณจะไม่ล้มหมอนนอนเสื่อหรือนอ หยอดน้ำข้าวต้มในโรงพยาบาล ยิ่งเดี๋ยวนี้ค่าห้อง ค่าหมอ ค่ายา แพงอย่าบอกใคร หากไม่อยากเปลี่ยนให้ฐานะ จนลงเพราะค่ารักษาพยาบาล ก็ควรมีประกันสุขภาพอย่างน้อยสักฉบับก็ยังดี

แต่การเลือกซื้อประกันสุขภาพ คุณควรซื้อแค่ “ส่วนเกิน” ของสวัสดิการประกันสังคม และสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่เจ้านายคุณจ่ายเท่านั้น เพราะประกันสุขภาพ เป็นการจ่ายเบี้ย “แบบทิ้งเปล่า” ปีต่อปี ถ้าปีไหนไม่เจ็บไข้ได้ป่วยต้องหามส่งโรงพยาบาล ก็อย่าหวังจะได้แอ้ม

เวลาซื้อประกันสุขภาพมี 2 ตัวที่ต้องคำนึงถึง คือ “ค่ารักษาพยาบาล”กับ “ค่าห้อง” ถ้าคุณพอใจจะมีเพื่อนคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ คุณก็ไม่จำเป็นต้องเสียสตางค์ซื้อประกันสุขภาพเพิ่ม แต่ถ้าห้องรวมมันแออัดเหลือเกิน คุณก็ต้องยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกนิดเพื่ออัพเกรดสิทธิเป็นห้องเดี่ยวในโรงพยาบาล

แต่โปรดรู้ไว้… คุณไม่จำเป็นต้องซื้อประกันสุขภาพเต็ม 100% ของค่าห้องที่คุณพอใจ เอาแค่ครอบคลุมสัก 80% ก็พอส่วนที่เหลืออีก 20% ไว้ค่อยจ่ายตอนที่คุณเข้าไปนอนในโรงพยาบาลก็แล้วกัน

E.       ประกันอัคคีภัยแบบไหนดี???

คุณรู้หรือไม่… ในการทำประกันภัยบ้าน คุณควรเลือกซื้อ “กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัย” แทนกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยแบบธรรมดา เอ๋..!!! สงสัยละสิว่าทั้ง 2 กรมธรรม์ต่างกันอย่างไร ในเมื่อเป็นประกันอัคคีภัยเหมือนกัน

ต่างกันแน่นอน… เพราะถ้าคุณซื้อประกันอัคคีภัยธรรมดา คุณจะได้รับความคุ้มครองที่แคบกว่า เฉพาะไฟไหม้ ฟ้าผ่า และแก๊สระเบิดเพียง 3 ภัย แต่หากคุณซื้อกรมธรรม์ประกัน อัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย คุณจะได้ความคุ้มครองครอบคลุมถึง 6 ภัย อันได้แก่

  1. ภัยจากไฟไหม้ รวมถึงไฟไหม้ป่า พุ่มไม้ พงรก และการเผาป่าเพื่อปราบพื้นที่ ฟ้าผ่า รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกิดจากการลัดวงจรเนื่องจากฟ้าผ่าการระเบิดทุกชนิด
  2. ภัยจากการชนโดยยานพาหนะ รวมถึงช้าง ม้า วัว ควาย แต่ต้องไม่ใช่ยานพาหนะของผู้เอาประกันภัย
  3. ภัยจากการชนหรือตกใส่จากอากาศยาน เครื่องบิน จรวด เฮลิคอปเตอร์ อากาศยานทุกชนิด
  4. ภัยจากน้ำ เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุจากการปล่อย รั่วไหล ล้นจากท่อน้ำ ถังน้ำ แต่ไม่รวมถึงน้ำท่วม และท่อประปาที่แตกนอกตัวบ้าน
อ่านมาถึงตรงนี้ผมว่าทุกคนคงจะเห็นภาพมาพขึ้นแล้วว่าตัวเองจะทำยังไงดีกับเรื่องการทำประกัน การทำประกันไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่ผมว่าเราต้องรู้จักความต้องการของตัวเองให้ดี ซึ่งถ้ารู้แล้วต่อให้พนักงานขายประกันที่ไหนจะมาหว่านล้อมเรายังก็คงไม่ทำให้เราหลวมตัวหลวมใจตามคำเชิญชวนของเขาหรอก จริงมั้ยครับ..
ที่มาของข้อมูลส่วนใหญ่ในเรื่องการ Out source ความเสี่ยงนี้ได้คัดลอกมาจาก ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน