วางแผนการเงินเพื่ออนาคต

ที่นี้ผมว่าทุกคนคงเห็นแล้วว่าปัจจุบันนั้นตัวเองอยู่ในสถานการณ์แบบไหน บางคนอาจจะมีรายได้จากทรัพย์สินมากพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นประจำซึ่งต้องถือว่าดีมากในระดับหนึ่งที่เดียวครับ แต่ผมว่าคงจะมีไม่น้อยทีเดียวที่ตอนนี้รายได้จาสินทรัพย์นั้นยังไม่มากพอและคงจะเริ่มมองๆ แล้วว่าฉันจะต้องทำเช่นไรต่อเพื่อให้ตัวเองได้อิสรภาพทางการเงินบ้าง แต่ในขณะที่บางคนนั้นเริ่มเป็นกังวลเพราะสถานการณ์ตัวเองนั้นอยู่ในสภาพที่ความมั่งคั่งติดลบแต่สามารถหารายได้มาโป๊ะค่าใช้จ่ายได้อยู่ ที่นี้เราคงต้องมาวางแผนการเงินเพื่ออนาคตของเราในสถานการณ์ต่างๆ กันแล้วล่ะครับ

สิ่งแรกสุดที่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์อย่างไรก็ตามต้องคิดก่อนคือ “เป้าหมาย” หรือ “จุดหมาย” ที่ต้องการไปให้ถึงได้ก่อน โดยผมแนะนำให้เริ่มจากง่ายๆ ก่อนจะดีกว่ามากๆ เพราะถ้าไปตั้งไว้สูงมากๆ บางที่จะทำให้เราตันคิดหาทางไปให้ถึงไม่ได้จะทำให้เราท้อกันไปซะก่อน ผมลองยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น สิ้นปี 2554 ฉันจะมีเงินเก็บให้ได้ 5 แสนบาท หรือ ฉันจะซื้อรถใหม่ในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทสิ้นปี 2554 นี้  หรือ ฉันจะมีสินทรัพย์(เงินฝาก ทองคำ หรือหุ้น) มูลค่า 5 ล้านบาทภายในปี 2559 เป็นต้น การตั้งเป้าหมายที่ดีถ้าเอาหลักแบบสากลมาช่วยด้วยคือ เป้าหมายที่ดีต้อง SMART ครับ SMART เป็นตัวย่อของ

S = Specific

เป้าหมายที่ดีต้องระบุได้อย่างชัดเจน ไม่คลุมเครือ อ่านแล้วเข้าใจได้ทันทีไม่ต้องมีคำมาอธิบายต่อ

M = Measurement

ต้องวัดผลได้ยิ่งเป็นตัวเลขได้จะยิ่งเท่าให้เราเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้นครับ

A = Achievement

สามารถทำให้สำเร็จได้ ผมว่าค่อยๆ เป็นขั้นเป็นตอนไปจะดีมากๆ ตั้งโดยคิดว่าเราใช้ความพยายามในการเอื้อมให้ถึงไม่ง่ายจนเกินไปนักจะได้เกิดความท้าทายและภูมิใจเมื่อทำได้ และเมื่อสำเร็จขั้นแรกแล้วก็ค่อยตั้งขั้นต่อไป

R = Realistic

มีความเป็นไปได้ สามารถทำได้จริงและไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

T = Time bound

มีระยะเวลาที่ชัดเจนเช่น 6 เดือน  1 ปี 3 ปี หรือ 10 ปี เป็นต้น ถ้ายึดตามหลักสากลจะแบ่งออกเป็นระยะสั้นคือภายใน 1 ปี ระยะกลางคือ 1-10 ปีและระยะยาวคือมากกว่า 10 ปี

บางคนอาจจะวางเป้าหมายเป็นเรื่องๆ ไปหรือบางคนอาจจะมองเป็นในแต่ละช่วงอายุก็ได้ว่าอยากจะมีหรืออยากจะได้อะไรบ้างเช่น

รายการ

ช่วงอายุ

ประมาณการณ์เงินที่ต้องใช้

เงินฝาก

20 ปี

500,000 บาท
ซื้อรถ

23 ปี

800,000 บาท
เรียนต่อปริญญาโท

25 ปี

ปีละ 100,000 บาท
แต่งงาน

27 ปี

1,000,000 บาท
ซื้อบ้าน

30 ปี

5,000,000 บาท
มีลูก

32 ปี

ค่าใช้จ่ายเพิ่มปีละ 400,000 บาท
เปิดบริษัทตัวเอง

40 ปี

เงินทุนตั้งต้น 5,000,000 บาท
เกษียณ

60 ปี

มีเงินใช้เดือนละ 100,000 บาท